ตาพร่ามัว...อย่าชะล่าใจ วันเบาหวานโลก 2567 หมอตาเตือนคนทำงานอายุ 30+ ระวังเบาหวานขึ้นตา ภัยเงียบที่คุกคามสายตา

พบ 24-31% ของผู้ป่วยเบาหวานในไทยมีภาวะแทรกซ้อนทางตา เสี่ยงตาบอดถาวรโดยไม่รู้ตัว หมอชี้ตรวจเร็ว รักษาเร็ว ชะลอการสูญเสียการมองเห็นได้ถึง 95%

กรุงเทพฯ ประเทศไทย - 14 พฤศจิกายน 2567 - เนื่องในวันเบาหวานโลก ปี 2567 จักษุแพทย์เตือนคนไทยวัยทำงานหมั่นตรวจเช็คสุขภาพตาเป็นประจำ หลายคนมักมองข้ามสัญญาณเตือนเล็กๆ น้อยๆ ของปัญหาสุขภาพตา เพราะคิดว่าเป็นเพียงอาการเมื่อยล้าจากการทำงานหนัก หรือใช้สายตาไปกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นเวลานาน แต่รู้หรือไม่ว่า อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายแรงอย่าง "ภาวะจุดรับภาพชัดบวมจากเบาหวานขึ้นจอตา" ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรในผู้ป่วยโรคเบาหวาน

ภาวะจุดรับภาพชัดบวมจากเบาหวานขึ้นจอตา (Diabetic Macular Edema หรือ DME) เกิดจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูง ทำให้เส้นเลือดที่อยู่ในชั้นจอประสาทตามีความผิดปกติ ส่งผลให้จุดรับภาพจอตาบวม โรคนี้พบได้ในทุกช่วงอายุ จากสถิติพบว่า ปัจจุบันในประเทศไทยพบอุบัติการณ์โรคเบาหวานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 3 แสนคนต่อปี3 และปัจจุบันมีคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปที่เป็นโรคเบาหวานถึง 6.9 ล้านคน4 โดยคนไทยอายุ 30 - 60 ปี มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานถึง 12%5 ที่น่าวิตกกว่านั้นคือ โรคเบาหวานในทุกอายุมีโอกาสพัฒนาเป็นภาวะจุดรับภาพชัดบวมจากเบาหวานขึ้นจอตา (DME) ซึ่งเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการสูญเสียการมองเห็นในผู้ป่วยเบาหวาน6 โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้มักไม่รู้ตัวว่ามีภาวะดังกล่าว เนื่องจากอาการมักไม่แสดงชัดเจนในช่วงแรก

ด้วยเหตุนี้ การตรวจคัดกรองและการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ช่วยลดความเสี่ยงในการพัฒนาเป็นโรค DME อีกทั้งยังช่วยป้องกันการสูญเสียการมองเห็นได้ นพ. ธนาพงษ์ สมกิจรุ่งโรจน์ จักษุแพทย์ด้านจอตาและม่านตาอักเสบ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า “สถานการณ์ภาวะจุดรับภาพชัดบวมจากเบาหวานขึ้นจอตาในประเทศไทยกำลังน่าเป็นห่วง จากการศึกษาพบว่า 1 ใน 4 ของผู้ป่วยเบาหวานมีภาวะจุดรับภาพชัดบวมจากเบาหวานขึ้นจอตา7 ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้อย่างฉับพลันและอาจเกิดกับตาข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ โดยที่ผู้ป่วยบางรายอาจไม่รู้สึกเจ็บหรือปวดบริเวณดวงตา และหากสังเกตุจากภายนอกก็อาจไม่สามารถสังเกตเห็นความผิดปกติของดวงตา ด้วยเหตุนี้ โรคทางสายตาจึงถือเป็นภัยเงียบ เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่เข้าใจว่าการมองเห็นไม่ชัดเป็นผลจากค่าสายตาที่เปลี่ยนไป"

กรณีของ คุณ อัจฉรา เซ่งฮะ นักธุรกิจ วัย 51 ปี เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนเอง "ดิฉันเป็นอดีตพนักงานธนาคาร ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาการเงินและทำธุรกิจของตัวเอง สมัยก่อนไม่เห็นคุณค่าของการออกกำลังกาย และใช้ชีวิตไม่ค่อยดูแลตัวเองเท่าไหร่ เพราะคิดว่าอายุน้อยคงไม่เป็นไร ใช้ชีวิตเต็มที่สะสมมานานกว่า 20 ปี จนกระทั่งตรวจเจอว่าเป็นเบาหวานมามากกว่า 3 ปี แต่ไม่เคยคิดว่าจะส่งผลกระทบกับดวงตา ต่อมาเริ่มมีอาการมีเส้นเหมือนยัยแมงมุมเกิดขึ้นที่ตา พอไปพบหมอถึงรู้ว่าตามีปัญหาเกิดจากภาวะเบาหวานระยะที่สาม หากเกินขั้นนี้ไป คือตาบอดค่ะ"

การรักษาภาวะจุดรับภาพชัดบวมจากเบาหวานขึ้นจอตาในประเทศไทยมีวิวัฒนาการดีขึ้นจากเมื่อก่อน นพ. ธนาพงษ์ สมกิจรุ่งโรจน์ อธิบายว่า "เมื่อราว 10 กว่าปีที่แล้ว แนวทางการรักษาหลักของโรคทางจอประสาทตา รวมถึงภาวะจุดรับภาพชัดบวมจากเบาหวานขึ้นจอตาคือ การใช้เลเซอร์ ซึ่งวิธีดังกล่าวมักจะไม่สามารถทำให้การมองเห็นดีขึ้นได้มาก แต่การใช้เลเซอร์มีส่วนช่วยชะลอไม่ให้โรคลุกลามแย่ลงได้  ต่อมา มีการพัฒนาเป็นยาฉีดเข้าไปในน้ำวุ้นลูกตา โดยเป็นยาที่ออกฤทธิ์กลไกเดียวโดยยับยั้งที่ VEGF (Anti-VEGF) ช่วยลดการงอกของเส้นเลือดที่จอประสาทตา ผลที่ได้คือสามารถทำให้คุณภาพการมองเห็นของผู้ป่วยดีขึ้นได้ อย่างไรก็ดีการมองเห็นที่ดีขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยจำเป็นต้องทำการฉีดยาเข้าน้ำวุ้นตาอย่างต่อเนื่อง โดยมีความถี่ในการฉีดยาแต่ละชนิดแตกต่างกันไป บางชนิดผู้ป่วยต้องเข้ารับการฉีดยาบ่อยทุก 1-2 เดือน ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบทั้งต่อผู้ป่วยและผู้ดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ระยะทางจากบ้านและโรงพยาบาลห่างไกลกันมาก หรืออยู่คนละจังหวัด ผู้ป่วยที่มีคุณภาพการมองเห็นไม่ดีจำเป็นต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากผู้ดูแลซึ่งอาจจำเป็นต้องลางานมาโรงพยาบาลบ่อยๆ ปัจจุบัน ยาฉีดเข้าไปในน้ำวุ้นลูกตามีการพัฒนามากขึ้น เป็น dual pathway inhibitor (Anti Ang-2/VEGF) ซึ่งยับยั้งสองกลไกหลักของการเกิดโรค คือ ยับยั้งทั้ง VEGF และ Ang-2 ที่นอกจากจะช่วยลดการงอกของเส้นเลือดแล้ว ยังช่วยลดการรั่วของเส้นเลือด ลดการอักเสบของเส้นเลือด และทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงจอประสาทตามีความแข็งแรงมากขึ้น ยากลุ่มนี้จึงออกฤทธิ์ได้นานกว่าเดิม ทำให้ลดความถี่ในการฉีดยาลงได้ จากผลการวิจัยทางคลินิก, พบว่าร้อยละ 80 ของผู้ป่วยในงานวิจัยได้รับการฉีดยาเพียง 4 เดือน ครั้ง ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้ดีกว่าเดิม  ส่วนเรื่องของความปลอดภัยและอาการข้างเคียง จากผลการวิจัยทางคลินิก8,9 ในผู้ป่วยมากกว่า 3,200 ราย และผู้ป่วยที่มีประสบการณ์ได้รับยาจากการรักษาจริงอีกราว 4,000,000 เข็ม10 ยังไม่พบความแตกต่างของอาการข้างเคียงระหว่างยา dual pathway inhibitor (Anti Ang-2/VEGF) กับยาฉีดชนิดเดิมที่เคยมีมาในอดีตแต่อย่างใด ”

จากสถิติพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาแต่เนิ่นๆ สามารถป้องกันการสูญเสียการมองเห็นได้ถึง 95%11 นพ. ธนาพงษ์ สมกิจรุ่งโรจน์ กล่าวเสริม "ในกรณีของผู้ป่วยที่มีภาวะจุดรับภาพชัดบวมจากเบาหวานขึ้นจอตา หากผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยนวัตกรรมใหม่ พร้อมกับควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด อาการของโรคมีแนวโน้มที่จะดีขึ้นได้ภายในระยะเวลา 3-5 ปี และมีโอกาสสูงที่ผู้ป่วยจะสามารถหยุดยาได้"

"โชคดีที่ดิฉันได้รับการรักษาทันเวลา หลังได้รับการฉีดยาเข้าไปในน้ำวุ้นลูกตาที่ยับยั้งสองกลไก (Anti Ang-2/VEGF)  พร้อมกับการลดน้ำตาลและดูแลสุขภาพมากขึ้น ทำให้การมองเห็นของดิฉันกลับมาดีขึ้น ปัจจุบันคุณหมอบอกว่าผลลัพธ์คือเหมือนคนปกติแล้ว ด้วยการมาพบแพทย์ตามนัดหมายเพียง 3 เดือน ครั้ง เท่านั้น" คุณ อัจฉรา กล่าว

"อยากฝากถึงคนไทยทุกคน ให้ดูแลสุขภาพตั้งแต่เริ่มต้นไม่ว่าจะเรื่องของอาหารการกินที่ดีต่อสุขภาพและถูกสุขลักษณะ พร้อมกับการออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย และไม่ประมาทกับชีวิต เพราะอาการเหล่านี้เกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัย" คุณ อัจฉรา กล่าวเสริม

"ผู้ที่มีภาวะจุดรับภาพชัดบวมจากเบาหวานขึ้นจอตาหรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้ ควรปรับพฤติกรรมและควบคุมโรคประจำตัวให้ดี โดยเฉพาะการควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม, ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด, งดการสูบบุหรี่ และควรต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่องตามการนัดของแพทย์ นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานควรหมั่นตรวจสุขภาพตากับจักษุแพทย์เป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งเพื่อการวินิจฉัยที่เร็วและเริ่มการรักษาอย่างทันท่วงที ซึ่งมีส่วนช่วยในการลดการสูญเสียการมองเห็น เพราะการมองเห็นที่ชัดเจนเป็นส่วนสำคัญยิ่งกับคุณภาพชีวิต” นพ. ธนาพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

#worlddiabetesday2024 #เบาหวานขึ้นตา #ภัยเงียบที่คุกคามดวงตา #ตรวจตาเป็นประจำ #ตาพร่ามัวอย่าชะล่าใจ

อ้างอิง:

  1. J Med Assoc Thai Vol. 100 Suppl. 1 2017

  2. https://www.nuhs.edu.sg/patient-care/find-a-condition/diabetic-retinopathy

  3. https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=21692

  4. ตัวชี้วัดสำคัญประเทศไทย พ.ศ. 2567 https://www.nso.go.th/public/e-book/Indicators-Thailand/Thailand-Indicators-2567/22/ และ รายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2562 - 2563 https://www.hiso.or.th/hiso/picture/reportHealth/report/sreport6/sreport6_full.pdf

  5. https://www.hiso.or.th/hiso/picture/reportHealth/report/sreport6/sreport6_full.pdf

  6. Leasher, J. L. et al. Global Estimates on the Number of People Blind or Visually Impaired by Diabetic Retinopathy: A Meta-Analysis from 1990 to 2010. Diabetes Care. 2016; 39:1643–9.

  7. https://pmc.ncbi.nlm.nih.gov/articles/PMC4775164/

  8. Heier JS et al. Efficacy, durability, and safety of intravitreal faricimab up to every 16 weeks for neovascular age-related macular degeneration (TENAYA and LUCERNE): two randomised, double-masked, phase 3, non-inferiority trials. www.thelancet.com Published online January 24, 2022 https://doi.org/10.1016/S0140-6736(22)00010-1

  9. Wykoff CC et al. Efficacy, durability, and safety of intravitreal faricimab with extended dosing up to every 16 weeks in patients with diabetic macular oedema (YOSEMITE and RHINE): two randomised, double-masked, phase 3 trials. www.thelancet.com Published online January 24, 2022 https://doi.org/10.1016/S0140-6736(22)00018-6

  10. Roche Data on File. July 2024

  11. https://www.nuhs.edu.sg/patient-care/find-a-condition/diabetic-retinopathy

This website contains information on products which is targeted to a wide range of audiences and could contain product details or information otherwise not accessible or valid in your country. Please be aware that we do not take any responsibility for accessing such information which may not comply with any legal process, regulation, registration or usage in the country of your origin. which is targeted to a wide range of audiences and could contain product details or information otherwise not accessible or valid

ติดต่อสาขาของโรชlinkedinfacebooktwitterinstagramyoutubeเกี่ยวกับโรชหน่วยธุรกิจยาร่วมงานกับเราข่าวสารบทความRoche Privacy PolicyRoche Privacy Notice (HCPs)Roche Privacy Policy for PatientsRoche Privacy Policy for Contract PartiesRoche Privacy & Communication TermsLegal statementCCTV Privacy