รู้หรือไม่ คุณอาจเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด แม้ไม่เคยสูบบุหรี่ หรือหยุดสูบบุหรี่มานานแล้ว?

English version

วันงดสูบบุหรี่โลก ตรวจไว รู้เร็ว มะเร็งปอดรักษาได้

ตามประกาศขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก บริษัท โรช ไทยแลนด์ จำกัด จึงจัดงานแถลงข่าวในหัวข้อ “รู้หรือไม่ คุณอาจะเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด แม้ไม่เคยสูบบุหรี่หรือหยุดสูบบุหรี่มานานแล้ว?” เพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาชนทั่วไปตระหนักถึงอันตรายและความสูญเสียทางสุขภาพที่เกิดจากควันบุหรี่ และเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการป้องกัน การคัดกรอง และการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งปอดระยะเริ่มต้นด้วยการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องอกแบบใช้รังสีต่ำ (Low Dose Computerized Tomography Scan) ภายในงานได้รับเกียรติจาก นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ และ นายแพทย์นรินทร สุรสินธน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยและป้องกัน โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ รวมถึงผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะเริ่มต้นที่เคยมีประวัติสูบบุหรี่จัดต่อเนื่องเป็นเวลานาน และผู้ดูแลผู้ป่วยมะร็งปอดซึ่งไม่เคยมีประวัติสัมผัสกับบุหรี่มาก่อน มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตรวจคัดกรองและการรักษามะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น

สถิติ1 เผยว่าในปี พ.ศ. 2563 โรคมะเร็งปอดมีอุบัติการณ์และอัตราการเสียชีวิตสูงสุดเป็นอันดับ 2เมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่น ๆ ในประเทศไทย โดยพบจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปอดรายใหม่สูงถึง 23,717 ราย หรือคิดเป็น 65 รายต่อวันโดยเฉลี่ย นอกจากนี้ ประชาชนไทยอีกกว่า 20,395 ราย หรือคิดเป็น 56 รายต่อวันโดยเฉลี่ยยังเสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งปอด สถานการณ์ความรุนแรงของโรคดังกล่าวในประเทศไทยถือว่าอยู่อันดับที่ 18 ของโลก เนื่องจากระยะของมะเร็งปอดที่เข้ารับการรักษามีผลโดยตรงต่อโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วย อนึ่ง สัดส่วนการตรวจพบผู้ป่วยมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นในประเทศไทยยังคงต่ำอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี ญี่ปุ่น เป็นต้น2  ซึ่งกำหนดให้การทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องอกแบบใช้รังสีต่ำ (Low dose CT scan) เป็นแนวทางมาตรฐานในการคัดกรองมะเร็งปอด ดังนั้น ความท้าทายในการลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งปอดในประเทศไทยจึงอยู่ที่การคัดกรองผู้มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอด โดยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยที่ได้มาตรฐาน เพื่อที่ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้นมากยิ่งขึ้น และมีแนวโน้มที่ผลลัพธ์การรักษาจะออกมาเป็นที่น่าพึงพอใจ

ประชาชนไทยจำนวนมากยังคงขาดความตระหนักรู้ด้านการคัดกรองโรคมะเร็งปอด ส่งผลให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปอดในระยะสุดท้ายซึ่งมักมีอัตราการรอดชีวิตต่ำ นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “หากเจอมะเร็งปอดในระยะที่ 4 หรือระยะแพร่กระจาย ผู้ป่วยจะมีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี เพียง 0-10% เท่านั้น ระยะที่ 3 หรือระยะลุกลามเฉพาะที่ ผู้ป่วยจะมีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี อยู่ที่ 13-36% แต่ถ้าเราเจอมะเร็งปอดระยะ 1 หรือ 2 ซึ่งก็คือ ‘ระยะเริ่มต้น’ ผู้ป่วยจะมีอัตราการรอดชีวิตประมาณ 5 ปี สูงถึง 53-92% แต่อย่างไรก็ตามประเทศไทยตรวจพบมะเร็งปอดระยะเริ่มต้นเพียงแค่ 15% เท่านั้น ดังนั้น ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด ได้แก่ สัมผัสกับควันบุหรี่หรือสารเคมีก่อมะเร็ง มีคนในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งปอด เคยมีประวัติเป็นมะเร็งชนิดอื่นหรือเป็นโรคที่เกี่ยวกับปอดมาก่อน จึงควรใส่ใจสัญญาณเตือนด้านสุขภาพ หากสังเกตว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการต่อไปนี้ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับตรวจคัดกรองมะเร็งปอด เช่น เสียงแหบ เสียงเปลี่ยน ไอเรื้อรัง ไอมีเสมหะปนเลือด หายใจมีเสียงหวีด เจ็บหน้าอกตลอดเวลา รู้สึกปวดเมื่อกลืน ปอดติดเชื้อบ่อย เป็นต้น”

ในผู้ที่มีสุขภาพดีก็อาจมีแนวโน้มว่ที่จะเกิดโรคมะเร็งปอดได้ เนื่องจากสาเหตุที่นำไปสู่โรคนี้มีหลายประการ ได้แก่ ปัจจัยทางพันธุกรรม เช่น ผู้ที่มีประวัติโรคปอดเรื้อรัง โรคถุงลมโป่งพองเรื้อรัง มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคมะเร็งซึ่งอาจมีการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม นอกจากนี้ การกลายพันธุ์ที่ผิดปกติของยีน (gene) ในร่างกายของแต่ละคนก็ส่งผลให้เกิดมะเร็งปอดได้เช่นกัน โดยปัจจัยทางพันธุกรรมที่กล่าวมานี้มีส่วนให้เกิดมะเร็งปอดราว 20% เท่านั้น แต่ปัจจัยหลักอีก 80% กลับมาจากปัจจัยด้านพฤติกรรมและสภาพแวดล้อม เช่น การสูบบุหรี่จัดเกินกว่า 20 pack-years การประกอบอาชีพที่ต้องสัมผัสกับสารก่อมะเร็ง ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมเหมืองแร่ อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมผลิตฉนวนกันความร้อน ย่อมมีโอกาสที่จะสูดดมแร่ใยหินหรือสารแอสเบสตอส (Asbestos) นิเกิล โครเมียม เข้าไปในปริมาณมาก รวมไปถึงการใช้ชีวิตประจำวันที่ต้องสัมผัสกับฝุ่นละออง PM 2.5 ขับขี่มอเตอร์ไซค์ จุดธูปไหว้พระ เป็นต้น ดังนั้น หากพบว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดกำลังเผชิญความเสี่ยงอยู่ ควรหมั่นตรวจเช็กสุขภาพเป็นประจำ และปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางการคัดกรองที่มีประสิทธิภาพ

ภายในงาน ยังมีผู้ป่วยมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตรวจคัดกรองและการรักษามะเร็งปอดระยะเริ่มต้นถึง 2 ท่าน ได้แก่ คุณอรุณ เทพแก้ว ผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะที่ 2 เพศชาย อายุ 68 ปี ซึ่งมีประวัติเสี่ยงสูงที่จะเกิดมะเร็งปอดจากการสูบบุหรี่ต่อเนื่อง 2 ซองต่อวัน เป็นเวลา 13 ปี และดื่มเหล้าตั้งแต่สมัยวัยรุ่น แต่ก็เลิกมาแล้วถึง 35 ปี จนกระทั่งทราบว่าเป็นมะเร็งปอดเมื่อปีที่แล้ว “ผมไปพบแพทย์ด้วยอาการไอเรื้อรัง ต่อมาจึงได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น ทำให้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาอย่างทันท่วงทีและผลการรักษาก็ออกมาเป็นที่น่าพึงพอใจ ทุกวันนี้สามารถกลับใช้ชีวิตและช่วยเหลือตัวเองได้ตามปกติ ผมตั้งใจว่าต่อจากนี้ไปจะปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด รวมถึงลดพฤติกรรมเสี่ยงและหลีกเลี่ยงการอยู่ในสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่อาจนำไปสู่การลุกลามของโรค”

ส่วนอีกท่านหนึ่งคือ คุณยศ กุศลมโนสุข ซึ่งเป็นผู้ดูแลคุณแม่ คุณคิ่มเตียง กุศลมโนสุข ผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะที่ 1 เพศหญิง อายุ 72 ปี ซึ่งไม่เคยมีประวัติสูบบุหรี่หรือสัมผัสกับควันบุหรี่มือสองมาก่อน แต่มีโอกาสตรวจพบโรคดังกล่าวต้้งแต่ระยะเริ่มต้น “แม้จะไม่เคยสูบบุหรี่และไม่มีสัญญาณอันตรายใด ๆ มาก่อนเลย แต่สมัยสาว ๆ คุณแม่ของผมชอบไหว้พระสวดมนต์เป็นประจำ นอกจากนี้ เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ท่านยังเคยป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ระยะลุกลาม จนกระทั่งเมื่อปี 2564 ท่านก็ไปตรวจสุขภาพประจำปีตามปกติ สิ่งที่ต่างจากทุกครั้งก็คือ คราวนี้แพทย์แนะนำให้ลองตรวจคัดกรองด้วยการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องอกแบบใช้รังสีต่ำ หรือที่เรียกว่า Low dose CT Scan ด้วย เพราะท่านมีปัจจัยทางพันธุกรรมและปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่บ่งชี้ว่า ท่านอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด จากนั้น เมื่อได้รับคำวินิจฉัยยืนยันว่าเป็นมะเร็งปอด ท่านก็เข้าสู่กระบวนการรักษาทันที พอมองย้อนกลับไปผมรู้สึกว่าโชคดีมาก ๆ ที่ไม่นิ่งนอนใจและแนะนำให้คุณแม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เพราะเมื่อเทียบกับตอนที่รักษามะเร็งลำไส้ระยะลุกลามเมื่อสิบกว่าปีก่อน คราวนี้ทั้งผมและท่านรู้สึกเบาใจมากกับการรับมือมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น เนื่องจากมีโอกาสรักษาหายขาดสูง”

ในปัจจุบันมีวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดแบบต่างๆ อยู่ 3 วิธี ได้แก่ 1) การเอกซเรย์ทรวงอก หรือ Chest x-ray 2) การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ CT Scan และ 3) การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องอกแบบใช้รังสีต่ำ หรือ Low dose CT Scan ทั้งนี้ นายแพทย์นรินทร สุรสินธน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยและป้องกัน โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้เปรียบเทียบข้อดีและข้อจำกัดของแต่ละวิธี “การเอกซเรย์ทรวงอก หรือ Chest x-ray ซึ่งมักรวมอยู่ในรายการตรวจสุขภาพประจำปี ทำได้ง่ายและรวดเร็ว เสียค่าใช้จ่ายต่ำ แต่ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะคัดกรองเซลล์มะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นที่มีขนาดเล็ก ส่วนการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ CT Scan จะมีความแม่นยำสูงกว่ามาก แต่เป็นวิธีที่ต้องรอคิวนาน ในบางโรงพยาบาล บุคลากรด้านรังสีแพทย์และเครื่องมือยังมีอยู่จำกัด นอกจากนี้ ผู้เข้าตรวจได้รับรังสีในปริมาณสูงและอาจรู้สึกร้อนวูบวาบไปทั่วร่างกายจากการฉีดสารทึบรังสีเข้าทางหลอดเลือดดํา ส่วนวิธีการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องอกแบบใช้รังสีต่ำ หรือ Low dose CT Scan นั้น มีความแม่นยำกว่าการเอกซเรย์ทรวงอกถึง 6 เท่า ส่งผลให้พบมะเร็งปอดได้รวดเร็วตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดลงได้ 20%3  ดังนั้น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องอกแบบใช้รังสีต่ำจึงเป็นวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ”

แนวปฏิบัติของ National Comprehensive Cancer Network (NCCN)4  ระบุว่ากลุ่มเสี่ยงสูงที่จะเกิดมะเร็งปอด ได้แก่ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป และมีประวัติการสูบบุหรี่มากกว่า 20 pack-year ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดประจำปีด้วยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องอกแบบใช้รังสีต่ำ ในขณะที่ผู้ที่อาจมีปัจจัยเสี่ยงหรือผู้ที่ใส่ใจสุขภาพก็สามารถปรึกษาแพทย์ เพื่อขอเข้ารับตรวจคัดกรองด้วยวิธีดังกล่าวได้เช่นกัน เพราะมะเร็งปอดถือเป็นภัยสุขภาพที่คุกคามร่างกายอย่างเงียบ ๆ และอาจพรากคนที่คุณรักไปอย่างไม่มีวันกลับ ดังนั้น การตรวจพบมะเร็งปอดตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจึงถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะผู้ป่วยมีโอกาสสูงที่ผลลัพธ์การรักษาจะเป็นไปในทางที่น่าพึงพอใจ และลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำได้

อ้างอิง

  1. The Global Cancer Observatory, International Agency for Research on Cancer, WHO (March, 2021) 

  2. EpiCast report: NSCLC Epidemiology Forecast to 2025. GlobalData. 2016

  3. The National Lung Screening Trial Research Team. Reduced lung-cancer mortality with low-dose computed tomographic screening. N Engl J Med. 2011; 365(5): 395-409.

  4. NCCN VERSION1.2022


    M-TH-00002100

This website contains information on products which is targeted to a wide range of audiences and could contain product details or information otherwise not accessible or valid in your country. Please be aware that we do not take any responsibility for accessing such information which may not comply with any legal process, regulation, registration or usage in the country of your origin. which is targeted to a wide range of audiences and could contain product details or information otherwise not accessible or valid

ติดต่อสาขาของโรชlinkedinfacebooktwitterinstagramyoutubeเกี่ยวกับโรชหน่วยธุรกิจยาร่วมงานกับเราข่าวสารบทความRoche Privacy PolicyRoche Privacy Notice (HCPs)Roche Privacy Policy for PatientsRoche Privacy Policy for Contract PartiesRoche Privacy & Communication TermsLegal statementCCTV Privacy