รมว.สธ. ประกาศผลักดัน รัฐ-เอกชน บูรณาการความร่วมมือเชิงรุกป้องกันมะเร็งปากมดลูก-เต้านม รับวันสตรีสากล

เร่งเพิ่มหน่วยตรวจ บริการรวดเร็ว พร้อมตั้งกอ งทุนมะเร็งเพิ่มการเข้าถึงการรักษาและยานวัตกรรมของผู้ป่วยโรคมะเร็งในระยะเริ่มต้น ลดจำนวนผู้ป่วยและอัตราการเสียชีวิต

กรุงเทพมหานครฯ – นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานประชุมเพื่อหารือและเสริมสร้างนโยบายมะเร็งในสตรีและโอกาสของการดูแลมะเร็งในสตรี ภายใต้หัวข้อ “Enhancing Women’s Cancer Care: Thailand Women Cancer Policy Forum” ครั้งที่ ๒ เนื่องในวันสตรีสากล จัดโดย สมาคมมะเร็งนรีเวชไทย สมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อหารือถึงการเสริมสร้างแนวทางการป้องกัน การรักษา และการขยายโอกาสการดูแลผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม ให้สามารถต่อยอดสู่การพัฒนายุทธศาสตร์และระบบบริการด้านมะเร็งในสตรี ผลักดันการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่สังคมในเรื่องการป้องกันและการตรวจคัดกรองเพื่อการตรวจพบโรคในระยะเริ่มต้น จัดสรรงบประมาณ เทคโนโลยีและทรัพยาการเพื่อการเข้าถึงประชาชนในเชิงรุก บูรณาการฐานข้อมูลกองทุนด้านสุขภาพเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงระบบสาธารณสุขของไทย สนับสนุนการเข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียมด้วยยานวัตกรรมผ่าน “กองทุนมะเร็ง” เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการรักษาสำหรับโรคมะเร็งในระยะเริ่มต้น โดยเน้นการบูรณาการความร่วมมือในรูปแบบของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ Public Private Partnership (PPP) เพื่อเพิ่มความรวดเร็วและคล่องตัวในการบริการ รวมทั้งไม่เพิ่มภาระหน้างานของโรงพยาบาลรัฐมากจนเกินไป ผ่านการอภิปรายแบบปิด (Closed Group Discussion) โดยระดมผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิจากทั่วประเทศ

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนก้าวต่อไปในการดำเนินนโยบายเชิงรุกด้านมะเร็งในสตรีของกระทรวงสาธารณสุข หลังจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีการบรรจุสิทธิประโยชน์ด้านการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วย เอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์ (HPV DNA Test) และการตรวคัดกรองฯ แบบเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง (HPV DNA Self-sampling Test) ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายสำหรับทุกสิทธิ์การรักษา รวมทั้งคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังได้พิจารณาและเห็นชอบ “ข้อเสนอการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ด้วยเครื่องแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์” ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว สู่การหารือแนวทาง ตลอดจนวิธีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การเพิ่มการเข้าถึงการตรวจคัดกรองฯ การจัดให้มีกองทุนมะเร็งเพื่อความเท่าเทียมในการเข้าถึงยานวัตกรรมสำหรับรักษามะเร็งได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเป็นอุปสรรค รวมทั้งการเตรียมระบบรองรับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมตามสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม

“ในแต่ละปีมีผู้หญิงที่ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมรายใหม่อยู่ที่ 37.8 ต่อแสนประชากร ซึ่งปี 2563 อยู่ที่จำนวน 22,158 คน หรือร้อยละ 22.8 ของจำนวนผู้หญิงที่ป่วยเป็นมะเร็งทุกชนิด ขณะที่อัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมอยู่ที่ 12.7 ต่อแสนประชากร ปี 2563 อยู่ที่จำนวน 8,266 คน หรือร้อยละ 14.6 ของผู้หญิงที่เสียชีวิตจากมะเร็งทุกชนิด ดังนั้นการตรวจคัดกรองจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่มีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม จึงมีการพิจารณาเห็นชอบเพิ่มสิทธิประโยชน์ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ ในสตรีอายุ 40 ปีขึ้นไปทุกสิทธิการรักษาพยาบาลที่มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม และกำหนดเป้าหมายบริการตรวจคัดกรองในปี 2567 จำนวน 40,600 ราย สามารถเริ่มตรวจได้ในเดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป โดยมอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นโต้โผในการขับเคลื่อน และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พิจารณาหาแหล่งเงินทุน​ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ​” นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว กล่าวเสริม

สอดคล้องกับ นางสาวศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง ที่ต้องการเรียกร้องมีการดำเนินการขับเคลื่อนกองทุนมะเร็งอย่างเร่งด่วน เพื่อให้มีวิธีการใหม่ๆ ในการเพิ่มการเข้าถึงการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่ดื้อต่อการรักษาและผู้ป่วยที่รักษาแล้วไม่ตอบสนองต่อคีโมด้วยยานวัตกรรม  เช่นยามุ่งเป้า และยาภูมิคุ้มกันบำบัด ซึ่งให้ผลการรักษาดีแต่มีค่าใช้จ่ายสูง เข้าสู่บัญชียาหลักจะช่วยยืดอายุและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งได้ “ผู้ป่วยมะเร็งมี Golden Time ต้องต่อสู้กับเวลาเพราะก้อนมะเร็งโตขึ้น ลุกลามขึ้นเรื่อยๆ แต่ต้องใช้เวลากว่า 3-5 ปีกว่าจะสามารถนำยานวัตกรรมเข้าสู่บัญชียาหลักเพื่อให้สามารถเบิกจ่ายได้นั้นจะมีผลต่อผู้ป่วยมะเร็งมาก เพราะทุกวินาทีของผู้ป่วยมะเร็งนั้นมีค่ามาก” ในขณะที่ นางสาวไอรีล ไตรสารศรี รองประธานชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ที่สนับสนุนแนวคิดดังกล่าวและเห็นว่ากองทุนมะเร็งจะช่วยลดช่องว่างในเรื่องค่ารักษาพยาบาล ความเท่าเทียมในการรักษา รวมทั้งคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวในระหว่างการต่อสู้กับโรคมะเร็งได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยตัดสินใจเข้ารับการตรวจคัดกรอง และเข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างทันท่วงที เนื่องจากการตรวจพบโรคมะเร็งและการดูแลรักษาผู้ป่วยในระยะเริ่มต้น มีความสำคัญในการเพิ่มโอกาสการรอดชีวิต

อย่างไรก็ตาม เพื่อยกระดับมาตรฐานการรักษามะเร็งเต้านมแบบองค์รวมและทัดเทียมกันของประเทศไทย สมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย โดย รศ. พญ. เยาวนุช คงด่าน นายกสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย จึงได้ทำการลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง ร่วมกับ ชมรมศัลยแพทย์เต้านมแห่งประเทศไทย และโรงพยาบาลทั้ง ๙ แห่ง ได้แก่ รพ.ราชบุรี, รพ.สุรินทร์, รพ. วชิระภูเก็ต, รพ. นมะรักษ์, สถาบันมะเร็งแห่งชาติ, รพ.ศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, รพ. พุทธชินราช, รพ. กลาง, และ รพ.ราชวิถี นอกจากนี้​ ในการเพิ่มการเข้าถึง การรักษามะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น​ด้วยการตั้งกองทุนยามะเร็งในระหว่างที่ยายังไม่เข้าบัญชียาหลัก และมีวิธีการใหม่ๆ ในการเร่งระบบพิจารณายาเข้าบัญชี​ยาหลักให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้หญิงไทยเข้าถึง วิธีการรักษา และนวัตกรรมใหม่ๆในการรักษามะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้นมากขึ้น เช่น การได้รับยาเพื่อลดขนาดก้อนก่อนการผ่าตัด, การรับยาในกลุ่มคนไข้ที่เหลือก้อนหลังการผ่าตัด และยากลุ่มมุ่งเป้าต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพสูง

ด้าน ศ.พญ. ศิริวรรณ ตั้งจิตกมล นายกสมาคมมะเร็งนรีเวช กล่าวว่ายังมีกลุ่มสตรีไทยอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก การเพิ่มการเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วย “ชุดเก็บสิ่งส่งตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเอง” หรือ “HPV DNA Self-sampling” การขยายการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเชิงรุกในเขตกรุงเทพมหานคร ผ่านการสร้างกลไกเพื่อประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาคีภาครัฐและเอกชน รวมทั้งการหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาแนวทางการจัดทำและบริหารทะเบียนข้อมูลจาก ๓ กองทุน ประกอบด้วย กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ สิทธิ์ประกันสังคม รวมไปถึงข้อมูลจากโรงพยาบาลเอกชน เพื่อให้แสดงภาพรวมการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในระดับประเทศได้อย่างถูกต้อง จะช่วยแก้ปัญหาข้อจำกัดในการดำเนินงานได้อย่างตรงจุด ตลอดจนขับเคลื่อนการดำเนินงานเชิงรุกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับการประชุมเพื่อหารือและเสริมสร้างนโยบายมะเร็งในสตรีและโอกาสของการดูแลมะเร็งในสตรีซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ ๒ ถือเป็นก้าวสำคัญของการดำเนินงานตามแผนที่ยุทธศาสตร์ในการเสริมสร้างแนวทางการป้องกัน การรักษา และการขยายโอกาสการดูแลมะเร็งในสตรี  ซึ่งก่อให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งระหว่างภาครัฐ หน่วยงานองค์การบริหารส่วนจังหวัด ภาคีภาคเอกชน และองค์กรเพื่อสังคม ได้มีส่วนร่วมและมีบทบาทในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อนโยบายด้านสาธารณสุขให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งยังช่วยสร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหามะเร็งต่อชุมชนและประชาชน ส่งเสริมเกิดพฤติกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบสุขภาพและระบบสุขภาวะที่ดีและยั่งยืนต่อไป

ข้อมูลเกี่ยวกับมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเต้านม

ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่า มะเร็งปากมดลูกถือเป็นภัยร้ายที่คุกคามต่อสุขภาพผู้หญิงทั่วโลก ในแต่ละปีมีผู้หญิงไทยที่เจ็บป่วยด้วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ ปีละกว่า 5 พันราย หรือเฉลี่ยวันละ 15 ราย และเสียชีวิตปีละกว่าสองพันสองร้อยราย หรือวันละ 6 ราย แต่มะเร็งปากมดลูกนั้นเป็นมะเร็งที่รักษาให้หายได้ หากพบในระยะเริ่มต้น และสามารถป้องกันได้ด้วยการตรวจหาเชื้อเอชพีวี ที่เป็นสาเหตุของโรคตั้งแต่เนิ่นๆ ในขณะที่สถานการณ์มะเร็งเต้านมในประเทศไทย พบว่าแต่ละปีมีผู้หญิงที่ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมรายใหม่อยู่ที่ 37.8 ต่อแสนประชากร ซึ่งปี 2563 อยู่ที่จำนวน 22,158 คน หรือร้อยละ 22.8 ของจำนวนผู้หญิงที่ป่วยเป็นมะเร็งทุกชนิด ขณะที่อัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมอยู่ที่ 12.7 ต่อแสนประชากร ปี 2563 อยู่ที่จำนวน 8,266 คน หรือร้อยละ 14.6 ของผู้หญิงที่เสียชีวิตจากมะเร็งทุกชนิด

This website contains information on products which is targeted to a wide range of audiences and could contain product details or information otherwise not accessible or valid in your country. Please be aware that we do not take any responsibility for accessing such information which may not comply with any legal process, regulation, registration or usage in the country of your origin. which is targeted to a wide range of audiences and could contain product details or information otherwise not accessible or valid

ติดต่อสาขาของโรชlinkedinfacebooktwitterinstagramyoutubeเกี่ยวกับโรชหน่วยธุรกิจยาร่วมงานกับเราข่าวสารบทความRoche Privacy PolicyRoche Privacy Notice (HCPs)Roche Privacy Policy for PatientsRoche Privacy Policy for Contract PartiesRoche Privacy & Communication TermsLegal statementCCTV Privacy