การรักษาด้วยการให้ยาเข้าใต้ผิวหนัง ทางเลือกการรักษาสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
English versionการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อประชากรโลกในปัจจุบัน โดยในประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 2,826 รายและผู้เสียชีวิต 49 ราย ณ วันที่ 22 เมษายน 2563¹ แม้ว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะมีอาการที่ไม่รุนแรงและไม่ส่งผลถึงชีวิต แต่การติดเชื้อสำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสามารถลุกลามอย่างรุนแรงและอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ในที่สุด หนึ่งในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงคือผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ นอกเหนือจากผลกระทบด้านสุขภาพในผู้ป่วยโรคมะเร็งแล้ว การแพร่กระจายของไวรัสยังส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข เนื่องมาจากการลดลงอย่างรวดเร็วของเวชภัณฑ์ และ ปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ จำนวนเตียงผู้ป่วยลดลง และที่สำคัญที่สุดคือบุคลากรทางการแพทย์อาจมีความเหนื่อยล้า จากการที่ต้องทำงานอย่างหนักและต่อเนื่องในช่วงของการแพร่ระบาด

กรุงเทพฯ ประเทศไทย - ปัจจุบันได้มีการรักษาด้วยเคมีบำบัดผ่านการฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังสำหรับการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและมะเร็งเต้านมแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความสะดวกและลดระยะเวลาการรักษาในโรงพยาบาลลง เมื่อเทียบการรักษาทั้งสองวิธีสำหรับผู้ป่วยที่ต้องรับเคมีบำบัดทั้งหมด 18 รอบแล้ว การฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังสำหรับการรักษามะเร็งเต้านมสามารถลดระยะเวลารักษาได้ถึง 53.7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสามารถลดเวลาการรักษารวมทุกขั้นตอนจาก 23 ชั่วโมงเหลือเพียงน้อยกว่า 7 ชั่วโมง2 ทั้งยังช่วยลดเวลาของแพทย์ผู้รักษาและพยาบาลในการเตรียมปฏิบัติการ และการรักษาด้วยเคมีบำบัดวิธีนี้ในโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ยังสามารถประหยัดเวลาการรักษาและอยู่ในโรงพยาบาลได้ถึง 32 เปอร์เซ็นต์3

นพ. ไนยรัฐ ประสงค์สุข ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า “ในขณะที่การฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ เป็นวิธีการรักษาที่แพร่หลายที่สุดในการทำเคมีบำบัด ซึ่งระยะเวลาในการรักษาแต่ละครั้งนั้นใช้เวลาพอสมควร ทำให้ผู้ป่วยต้องอยู่รักษาตัวในโรงพยาบาลนานหลายชั่วโมงต่อรอบ ซึ่งขณะนี้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน ทำให้ผู้ป่วยมีความจำเป็นที่จะต้องลดเวลาในการรักษาในโรงพยาบาลให้น้อยลงเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งอีกหนึ่งตัวเลือกที่ว่าคือ การฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง ซึ่งเป็นชั้นไขมันระหว่างผิวหนังและกล้ามเนื้อ การรักษาโดยการฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังมีเวลาในการรักษาในแต่ละรอบที่สั้นกว่าเมื่อเทียบกับวิธีการฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ และมีผลการพิสูจน์ทางการแพทย์แล้วว่าการรักษาโดยการให้ยาเข้าใต้ผิวหนังนั้น มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยเทียบเท่าการรักษาโดยการฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ”

ในขณะที่มีการรณรงค์เรื่อง การรักษาระยะห่างทางกายภาพ ผู้ป่วยโรคมะเร็งบางรายจำเป็นต้องได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 มากขึ้น การรักษาโรคมะเร็งในโรงพยาบาลอย่างการทำเคมีบำบัดมีระยะเวลาในการรักษาและจำเป็นต้องมาที่โรงพยาบาลตามรอบที่กำหนด ซึ่งหมายความว่าผู้ป่วยจะต้องเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลหลายครั้งตลอดระยะเวลาการรักษา โดยทั่วไปโรงพยาบาลส่วนใหญ่จะใช้การรักษาด้วยวิธีฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ เนื่องจากช่วยให้ยาสามารถกระจายไปทั่วร่างกายได้รวดเร็ว ซึ่งระยะเวลาและความถี่ในการรักษาด้วยเคมีบำบัดจะขึ้นอยู่กับชนิดของโรค ระยะของโรค การตอบสนองต่อยา รวมไปถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

อ.นพ. อาจรบ คูหาภินันทน์ สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวเสริมว่า “จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในปัจจุบัน ทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งต้องเผชิญกับปัญหาในการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเป็นอย่างมากเพราะยิ่งผู้ป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลนานแค่ไหน ก็จะเพิ่มความเสี่ยงที่อาจสัมผัสหรือติดเชื้อไวรัสได้มากขึ้นเท่านั้น อีกทั้งมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ทำให้มีการลดจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ลง ดังนั้นการรักษาด้วยการฉีดยาเข้าผิวหนังไม่เพียงแต่จะช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ป่วยและญาติ แต่ยังถือเป็นการช่วยบุคลากรทางการแพทย์อีกทางหนึ่ง ทำให้แพทย์และพยาบาลมีเวลามากขึ้นสำหรับการรักษาผู้ป่วยรายอื่น ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสซึ่งทำให้ทรัพยากรและระบบดูแลสุขภาพที่มีอยู่ค่อนข้างจำกัดและไม่เพียงพอ”

ปัจจุบันมีผลการศึกษาทางการแพทย์ในประเทศเบลเยียมและอิสราเอลที่ได้สำรวจความพึงพอใจของการรักษาด้วยเคมีบำบัดเข้าใต้ผิวหนัง โดยให้บุคลากรทางการแพทย์เข้าไปให้การรักษานี้ที่บ้านของผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อประเมินความสะดวกและเป็นอีกทางเลือกที่มีความยืดหยุ่นให้แก่ผู้ป่วย ซึ่งผลการสำรวจ4 พบว่า ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ต่างมองเห็นประโยชน์ และมีความพึงพอใจกับการรักษาด้วยการฉีดยาเข้าใต้ชั้นผิวหนังที่บ้านเป็นอย่างยิ่ง โดยความสำเร็จจากผลการศึกษานี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการพัฒนาทางเทคโนโลยีเพื่อให้นวัตกรรมทางการรักษามีความทันสมัยมากยิ่งขึ้นสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งในประเทศไทยและทั่วโลก ทั้งยังช่วยเพิ่มช่องทางการเข้าถึงการรักษาโรคมะเร็งที่เหมาะสมในอนาคตอีกด้วย

การรักษาด้วยการฉีดยาเข้าผิวหนังสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ถือเป็นก้าวสำคัญของวิทยาการทางการแพทย์ ยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบัน ระยะเวลาในการรักษาที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพถือเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้การทำงานของบุคลากรทางการแพทย์มีความคล่องตัวและรวดเร็วมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะสัมผัสเชื้อไวรัสสำหรับตัวผู้ป่วยโรคมะเร็งและญาติผู้ติดตามเองอีกด้วย

อ้างอิง

  1. “COVID-19 Live Update” Ministry of Public Health, 22 Apr. 2020, covid19.moph.go.th/#/portal

  2. Cancer Medicine 2016; 5(3):389–397.

  3. Erwin DC, et al. Time & Motion study in Eight Counties, 2016.[1] Bennett, Christina. At-Home Subcutaneous Injection of Trastuzumab Meets Safety Endpoint.

  4. Bennett, Christina. At-Home Subcutaneous Injection of Trastuzumab Meets Safety Endpoint.

This website contains information on products which is targeted to a wide range of audiences and could contain product details or information otherwise not accessible or valid in your country. Please be aware that we do not take any responsibility for accessing such information which may not comply with any legal process, regulation, registration or usage in the country of your origin. which is targeted to a wide range of audiences and could contain product details or information otherwise not accessible or valid

ติดต่อสาขาของโรชlinkedinfacebooktwitterinstagramyoutubeเกี่ยวกับโรชหน่วยธุรกิจยาร่วมงานกับเราข่าวสารบทความRoche Privacy PolicyRoche Privacy Notice (HCPs)Roche Privacy Policy for PatientsRoche Privacy Policy for Contract PartiesRoche Privacy & Communication TermsLegal statementCCTV Privacy