งาน Thailand EEPO 2020 ผลักดันระบบสาธารณสุขไทยสู่ยุคดิจิตอล ตั้งเป้าขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางการแพทย์ เพื่อการรักษาผู้ป่วยอย่างครบวงจร

Read the English version

ปัจจุบันความก้าวหน้าทางการแพทย์และระบบสาธารณสุขของประเทศไทยได้พัฒนาไปอย่างมากเมื่อเทียบกับในอดีต เนื่องจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ๆ ที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้องได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการผลักดันแนวทางการรักษาผู้ป่วยให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น เพื่อยกระดับมาตรฐานการดูแลรักษาและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วย ด้วยการตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงเกิดการจัดงาน Thailand EEPO 2020 (Experience Exchange with Patient Organization) โครงการสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกลุ่มผู้ป่วย ภายใต้หัวข้อ “พลังแห่งข้อมูล และการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอลของระบบดูแลสุขภาพ” (Power of Data & Digitization of Healthcare) ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่าง IEEPO (International Experience Exchange with Patient Organization) มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง (TCS: Thai Cancer Society) และ ชมรมผู้ป่วยโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟิเลียแห่งประเทศไทย (THPC: Thai Hemophilia Patient Club) ภายใต้การสนับสนุนของบริษัท โรช ไทยแลนด์ จำกัด โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อกระชับความสัมพันธ์ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูล พร้อมประเมินผลประโยชน์และความท้าทายที่มาพร้อมกับการดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคล (Personalized Healthcare) การใช้ข้อมูลในระบบสุขภาพ และการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลในระบบสุขภาพ

หนึ่งในประเด็นหลักของงาน Thailand EEPO 2020 ได้แก่ ความก้าวหน้าของการดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคลหรือ Personalized Healthcare ที่เข้ามามีบทบาทต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ด้วยการดึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการรักษาผู้ป่วย อาทิ ข้อมูลทางพันธุกรรม หรือประวัติของโรคแทรกซ้อน เพื่อวินิจฉัยและเลือกแนวทางการรักษาได้ตรงจุดยิ่งขึ้น โดย คุณเอกวัฒน์ สุวันทโรจน์ รองประธานชมรมผู้ป่วยโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟิเลียแห่งประเทศไทย และเจ้าภาพร่วมในการจัดงาน Thailand EEPO 2020 กล่าวว่า “แม้ผู้ป่วยแต่ละคนจะแสดงอาการเหมือนกัน แต่อาจมีสาเหตุความเจ็บป่วยแตกต่างกัน ดังนั้น บทบาทของการดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคลจึงเริ่มต้นตั้งแต่การตรวจวินิจฉัยเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยรับรู้พื้นฐานทางสุขภาพของตนเอง และมีวิธีการดูแลและเฝ้าระวังอาการของตนเองได้อย่างเหมาะสม ในกรณีของผู้ป่วยโรคหายาก การดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคลจะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น เพราะโรคหายากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของยีน ทำให้การวินิจฉัยที่แม่นยำและการวางแผนการรักษาที่ตรงจุดเป็นเรื่องจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ การดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคลยังป้องกันไม่ให้เกิดการถ่ายทอดความผิดปกติทางพันธุกรรมในครอบครัวขึ้นอีกในอนาคต ดังนั้น การดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคล จึงเป็นประโยชน์ทั้งกับตัวเราเอง แล้วยังช่วยปกป้องคนในครอบครัวของเราได้อีกด้วย”

จากข้อมูลเบื้องตัน จะเห็นได้ว่าการดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคลต้องอาศัยข้อมูลของผู้ป่วยจำนวนมาก ดังนั้น การจัดเก็บและการเข้าถึงข้อมูลจึงนับเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้ คุณศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง และเจ้าภาพร่วมในการจัดงาน Thailand EEPO 2020 ได้เผยถึงการดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคลผ่านมุมมองของอดีตผู้ป่วยมะเร็งว่า “ความฝันและความหวังของดิฉันในฐานะผู้ป่วยมะเร็ง คือการได้เห็นว่าการตรวจยีนมะเร็งอย่างครอบคลุม (Comprehensive Genomic Profiling) ก่อนกระบวนการการรักษาจะกลายมาเป็นสิ่งพื้นฐานในระบบสาธารณสุขไทย โดยเฉพาะข้อมูลของผู้ป่วยถือเป็นสิ่งที่มีค่ามากต่อการรักษา เพราะทำให้ผู้ป่วยมะเร็งได้รับการรักษาที่ตรงจุดมากขึ้น ช่วยลดอาการแทรกซ้อน ลดความเสี่ยงการไม่ตอบสนองต่อยา ทั้งยังเตรียมพร้อมรับมือและป้องกันโรคมะเร็งได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ยังช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์และนักวิจัยไทยสามารถพัฒนายารักษามะเร็งได้จำเฉพาะเจาะจงกับยีนคนไทย ซึ่งในอนาคตอาจลดค่าใช้จ่าย และทําให้คนไทยทุกเศรษฐานะสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

ความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่ขับเคลื่อนผ่านการนำระบบสาธารณสุขเข้าสู่ยุคดิจิตอลนั้นอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ ชมรมผู้ป่วย และองค์กรที่เกี่ยวข้อง จากภาครัฐและภาคเอกชน โดยมีจุดประสงค์ร่วมกันคือเพื่อพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพด้านการวิจัยและพัฒนา (Research & Development) รวมถึงการจัดสรรงบประมาณเพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยในระยะยาว นอกจากนี้ ยังมีการจัดเก็บและนำข้อมูลของผู้ป่วยมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคล ซึ่งปัจจัยหลักในการบริหารจัดการข้อมูลของผู้ป่วยอย่างครอบคลุม ประกอบด้วย การเข้าถึงประวัติการรักษาของผู้ป่วย การเชื่อมต่อข้อมูลส่วนกลางระหว่างโรงพยาบาลเพื่อให้เข้าถึงข้อมูลของผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วและสะดวกยิ่งขึ้น ความปลอดภัยของข้อมูลเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วย และมาตรการการจัดเก็บและใช้ข้อมูล (Data Governance)

นายแพทย์ธนกฤต จินตวร รองประธานสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (สวช.) กล่าวว่า “เทคโนโลยีถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้มนุษย์สามารถทำงานและบริหารจัดการระบบต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวมหรือจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ โดยข้อมูลจะถูกส่งมาจัดเก็บในระบบกลาง (Hospital Information System) ของโรงพยาบาล เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน ผู้ป่วย ไปจนถึงบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งในแง่ของการบริการ การเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคลมากยิ่งขึ้น รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง”

“ในฐานะตัวแทนของผู้ป่วยมะเร็ง ดิฉันอยากให้กลุ่มผู้ป่วยตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพ รับรู้สิทธิการเข้าถึงข้อมูลของตนเอง สังเกตและบันทึกข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการรักษาและเสริมสร้างคุณภาพชีวิต รวมถึงมีส่วนช่วยบุคลากรทางการแพทย์วางแผนการรักษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ดิฉันอยากเห็นความร่วมมือจากประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ หน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ในการจัดการความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อทำให้การเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยเป็นไปได้ง่าย ปลอดภัยและสะดวกยิ่งขึ้น” คุณศิรินทิพย์ กล่าวเสริม

นอกจากความก้าวหน้าด้านการดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคลแล้ว การเพิ่มโอกาสเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพก็นับเป็นหัวใจสำคัญในการผลักดันการพัฒนาระบบสาธารณสุขในประเทศไทย โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงติดเชื้อที่สูงขึ้นของผู้ป่วย หรือภาระที่เพิ่มขึ้นของบุคลากรทางการแพทย์ ส่งผลให้เทคโนโลยีโทรเวชกรรม (Telemedicine) เข้ามามีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมการแพทย์ ในปัจจุบันมีการพัฒนาแอปพลิเคชันต่าง ๆ รวมถึงนวัตกรรมการรักษาและวินิจฉัยเพื่อช่วยย่นระยะเวลาที่โรงพยาบาลให้แก่ผู้ป่วย ทำให้ลดความเสี่ยงและความแออัดในโรงพยาบาลลงได้

“เทคโนโลยีโทรเวชกรรมซึ่งเป็นที่พูดถึงกันมากในปัจจุบัน ช่วยให้ผู้ป่วยขอคำปรึกษาและได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยบุคลากรทางการแพทย์ได้แบบเรียลไทม์ผ่านระบบวิดีโอคอล นอกจากนี้ บริการส่งยาถึงบ้านยังอำนวยความสะดวกในแง่การประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทาง ช่วยให้ผู้ป่วยในชนบทหรือพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงการรักษาได้ อีกทั้งยังลดความแออัดในสถานพยาบาลลงได้อีกด้วย อย่างไรก็ดี การใช้เทคโนโลยีควรอยู่ใต้การควบคุมที่เหมาะสม อาทิ การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล การนำข้อมูลไปแสวงหาประโยชน์ หรือการใช้ข้อมูลผิดวัตถุประสงค์ ดังนั้น ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายควรตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลและจัดเก็บข้อมูลอย่างโปร่งใส ป้องกันไม่ให้เกิดการนำข้อมูลไปใช้ในทางมิชอบ” นายแพทย์ธนกฤต กล่าวเสริม

มร. ฟาริด บิดโกลิ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โรช ไทยแลนด์ เมียนมาร์ กัมพูชา และลาว กล่าวว่า“บทบาทหลักของเราในฐานะภาคเอกชนที่มีต่อการดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคล คือการสนับสนุนการลงทุนงานวิจัยทางคลินิกในโรงเรียนแพทย์ชั้นนำของเมืองไทย และการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ขับเคลื่อนระบบสาธารณสุข โรชมุ่งมั่นที่จะพัฒนายานวัตกรรมและแนวทางการตรวจวินิจฉัย ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงตัวเลือกการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ โรชจะร่วมมือกับทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนของระบบสุขภาพในเมืองไทย”

This website contains information on products which is targeted to a wide range of audiences and could contain product details or information otherwise not accessible or valid in your country. Please be aware that we do not take any responsibility for accessing such information which may not comply with any legal process, regulation, registration or usage in the country of your origin. which is targeted to a wide range of audiences and could contain product details or information otherwise not accessible or valid

ติดต่อสาขาของโรชlinkedinfacebooktwitterinstagramyoutubeเกี่ยวกับโรชหน่วยธุรกิจยาร่วมงานกับเราข่าวสารบทความRoche Privacy PolicyRoche Privacy Notice (HCPs)Roche Privacy Policy for PatientsRoche Privacy Policy for Contract PartiesRoche Privacy & Communication TermsLegal statementCCTV Privacy